วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

เปิดตัวห้องสมุดสันติประชาธรรม เสวนาครูกับนักเรียนโลกคนละใบในโลกใบเดียวกัน


วันที่ 16 มกราคม 2558 เนื่องในวันครู กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทจัดเสวนาและงานเปิดตัวห้องสมุดแห่งใหม่สำหรับคนรุ่นใหม่ในชื่อ หอสมุดสันติประชาธรรม โดยมี ส.ศิวลักษณ์ เป็นประธานในการเปิดห้องสมุดในครั้งนี้ และมีเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาลเป็นพิธีกรงานเสวนาในครั้งนี้ ณ สวนเงินมีมา มูลนิธีเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป
เมื่อเวลา 13.00 น. ชั้น 2ของเรือนร้อยฉนำ ณ สวนเงินมีมา  มูลนิธีเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป อาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์เป็นประธานในพิธีเปิดด้วยการเขียนป้ายชื่อหอสมุด สันติประชาธรรมลงบนป้ายผ้า นอกจากนี้มีการบรรเลงเพลงเดือนเพ็ญ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความคิดเห็นที่แตกต่าง ดั่งประวัติของเพลงนี้ที่ผู้แต่งไม่อาจต้องอยู่ประเทศไทยได้เพราะแนวคิดทางการเมือง
ไม่นานนักหลังทำพิธีเปิด ก็มาถึงงานเสวนาในหัวข้อ ครูกับนักเรียน โลกคนละใบในโลกใบเดียวกัน ดำเนินรายการโดย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท โดยมีวิทยากรมาบอกเล่าเรื่องราวความเป็นครูนักเรียนในมุมมองต่างๆดังนี้ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ ปัญญาชนสยาม ,ครูวิษณุ สังข์แก้ว ครูบรรณารักษ์,ครูปราศรัย เจตสันต์ ครูสอนสังคมฯและ ณัฐนันท์ วรินทรเวช นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทคนปัจจุบัน  ร่วมแลกเปลี่ยนในฐานะนักเรียน
โดยในช่วงเปิดการเสวนาได้มีงานนำคลิปตัวใหม่ที่ทางกลุ่มผู้จัดทำขึ้น เกี่ยวกับการไหว้ครูแนวใหม่มาเปิดเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้อย่างมากมายก่อนเริ่มเสวนา(ชมคลิป) 
เริ่มโดย เนติวิทย์ ให้อาจารย์สุลักษณ์ เล่าเรื่องราวความเป็นนักเรียนของอาจารย์ทั้งสมัยเรียนที่อัสสัมชัญและที่ประเทศอังกฤษว่าเป็นเช่นไร อาจารย์เล่าว่าในสมัยเรียนนั้นไม่ชอบการเรียนสมัยนั้นเท่าไร เน้นท่องจำ ครูเอาของมาขายบ้างแลกเกรด จนไปเจอครูที่อังกฤษครูทุ่มเทด้วยหัวใจ เป็นแบบอย่าง โดยอาจารย์สุลักษณ์เน้นว่าในปัจจุบันผู้บริหารสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาทั้งไทยและต่างชาตินั้นก็ล้วนแต่ใฝ่หาอำนาจด้วยกันทั้งนั้น ทั้งนี้อาจารย์ได้พูดถึงการศึกษาว่าไม่ควรแยกครูกับนักเรียน เพราะต่างฝ่ายต้องเรียนรู้ด้วยกันทั้งสิ้น คำว่าครูมาจากครุแปลว่าหนักแน่น คือต้องสอนให้นักเรียนมีหนักแน่น กล้าหาญทางจริยธรรม ไม่ใช่กลัวครูไปหมด
ตามด้วยครูวิษณุ ที่เล่าเรื่องแรงบันดาลใจที่มาเป็นครู ว่ามีครูสมัยเรียนเป็นแบบอย่าง รอสอนหนังสือแม้ตอนดึกหลังเลิกเรียนครูก็รอ จึงทำให้ครูวิษณุตั้งใจอยากเป็นครู ครูวิษณุยังเล่าเรื่องที่โรงเรียนว่าอยากให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับกฎเกณฑ์ต่างๆ เรื่องที่มีนักเรียนมาปรึกษาว่าไม่พอใจกฎเรื่องทรงผม หรือกฎที่คนมาสายตั้งถูกลงโทษทั้งๆที่บางครั้งอาจจะเป็นความผิดของคนขับรถโรงเรียน โดยคุณครูวิษณุได้แสดงออกถึงความเป็นครูที่ใจกว้าง และรับฟังปัญหาของนักเรียน สิ่งที่ครูวิษณุยืดถือคือ การไปโรงเรียนแต่เช้า การอยู่ห้องสมุดเสมอเวลากลางวัน และการกลับบ้านทีหลังเพื่ออยู่พบนักเรียนที่มาปรึกษา
ครูปราศรัย จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งแตกต่างจากครูวิษณุคือ ไม่ได้มาเรียนครูเพราะอุดมการณ์ เรียนเพราะคะแนนถึงจึงเลือกเรียนครู  พึ่งจะมาชอบการเป็นครูก็ตอนได้ฝึกสอนและตอนได้สอนจริงๆเพราะรู้สึกสนุก โดยครูปราศรัยเล่าถึงการใช้ความเป็นกันเองกับนักเรียนแต่ก็มีเส้นแบ่งที่ชัดเจน นอกจากนี้ครูปราศรัยเล่าต่อว่าการเป็นครูในโรงเรียนที่กำลังสร้างขื่อนั้น งานเยอะโดยเฉพาะครูผู้น้อยที่ไม่มีภาระจะมีคำสั่งให้ไปร่วมกิจกรรมมากกมาย ทั้งค่ายธรรม ค่ายคสช. และค่ายลูกเสือเป็นต้น  ทำให้เวลาสอนไม่พอ  บางห้องไม่ได้เจอเลยติดกันหลายสัปดาห์ แต่ก็ต้องปรับตัวโดยใช้สื่อ  ใช้ facebook เข้ามาช่วยในการเรียนการสอนมากขึ้น
ณัฐนันท์  บอกวันครูกับวันไหว้ครูไม่เหมือนกัน แม้กิจกรรมจะคล้ายกันบ้างก็ตาม แต่ก็ชวนตั้งคำถามว่าทำไมกิจกรรม เช่นไหว้ครู ครูถึงเป็นผู้จัดให้นักเรียนมาไหว้ ไม่ใช่นักเรียนตั้งใจจัดเพื่อไหว้ครูที่เคารพ เธอเล่าเรื่องสมัยเรียนว่าสมัยม.ต้นเธออยู่ English program อาจารย์ส่วนมากเป็นอาจารย์ต่างชาติ บรรยากาศในห้องเรียนจึงเต็มไปด้วยการตั้งคำถามและความเป็นกันเองของอาจารย์ ต่างกับม.ปลายที่เธอย้ายเข้ามาเรียนในเตรียมอุดมศึกษา  แม้เป็นโรงเรียนที่คัดหัวกะทิมา  แต่ทุกครั้งที่เธอตั้งคำถามก็มักจะถูกมองแปลกๆ หลายๆครั้งเธอเลยไม่พยายามโดดเด่นในห้องเรียนนักแต่ใช้เวลาอ่านหนังสือเองจากภายนอก
หลังจบงานเสวนาหลายท่านถ่ายรูปต่อกับวิทยากรและพูดคุยกับวิทยากรอย่างเป็นกันเองก่อนแยกย้ายกันกลับในเวลา 16.00 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น