ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Netiwit Ntw
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล แชร์บทความวิจารณ์ระบบการศึกษาไทยผ่านเฟซบุ๊กอีกครั้ง ซัด ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัยการศึกษาไทยก็ยังเหมือนเดิม แบบ อัปรีย์ไป จัญไรมา เชื่อ ระบบการศึกษาไทยไม่ดีขึ้นแน่ หากนักการเมืองไร้วิสัยทัศน์ ไม่เข้าใจความทุกข์ของครู-นักเรียน
หลังจาก นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เลขาธิการสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย นักเรียนโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ถูกชาวเน็ตวิจารณ์อย่างหนัก เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา จากกรณีออกมาโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ระบบการศึกษาของไทยว่า เน้นปลูกฝังความเป็นไทยผ่านเนื้อหาบทเรียนที่ล้าหลัง ทำให้นักเรียนเกิดความเชื่อที่ผิด ๆ โดยอาศัยชื่อความเป็นไทยมาทำให้นักเรียนยกย่องเทิดทูน ยกระบบโซตัสให้สูง จนผู้น้อยไม่สามารถขัดแย้งใด ๆ ได้เลยนั้น
ล่าสุด ในวันนี้ (10 กรกฎาคม 2556) นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ได้นำบทความเรื่อง "อภิวัฒน์ระบบการศึกษา เพื่อพ้นจากการศึกษา แบบ "อัปรีย์ไป จัญไรมา” (๑)" ที่นายเนติวิทย์เคยเขียนไว้ใน เฟซบุ๊ก Netiwit Ntw ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2555 กลับมาแชร์ให้ผู้สนใจได้อ่านกันอีกครั้ง เพื่อตอกย้ำความคิดดังกล่าว
ทั้งนี้ ในบทความเรื่องนี้ นายเนติวิทย์ ได้ยกบทความเรื่อง "Education in Thai: A Terrible Failure" หรือ "การศึกษาไทย : ความล้มเหลวอย่างน่าบัดซบ" ที่เขียนขึ้นโดย Cassandra James อาจารย์ชาวต่างชาติคนหนึ่งที่เคยสอนในประเทศไทยมาให้ดูเป็นตัวอย่าง โดยอาจารย์คนนี้วิเคราะห์ระบบการศึกษาไทยไว้ว่า ระบบการศึกษาไทยมีความเลวร้ายอย่างมาก ทั้งครูไร้ประสิทธิภาพ ได้รับค่าจ้างอยู่ในขั้นต่ำ นักเรียนไม่มีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ระบบราชการไทยเป็นแบบเจ้าขุนมูลนาย รัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาไทยบริหารจัดการไม่เป็น และยังบอกด้วยว่า ระบบการศึกษาไทยเป็นระบบการศึกษาที่แย่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หลังจากยกบทความดังกล่าวขึ้นมาแล้ว นายเนติวิทย์ ก็ได้แสดงความเห็นเสริมเข้าไปว่า สิ่งที่ครูต่างชาติคนนี้เขียนแสดงให้เห็นว่าการศึกษาไทยไม่ว่าจะกี่ยุค กี่สมัย ก็ยังเหมือนเดิม อาจใช้คำว่า "อัปรีย์ไป จัญไรมา" ก็ยังได้ พร้อมตั้งคำถามด้วยว่า ครูไทยได้สอนการคิดเชิงวิพากษ์ให้แก่เด็กไหม และได้สอนเรื่องอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการใช้หัวสมองคิดคำนวณ โดยไม่โยงไปหาหัวใจเลยหรือไม่ จึงอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันทบทวนระบบการศึกษาด้วย
สำหรับข้อความทั้งหมดนั้น มีดังนี้
อภิวัฒน์ระบบการศึกษา เพื่อพ้นจากการศึกษา แบบ "อัปรีย์ไป จัญไรมา" (๑)
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล
ขออุทิศบทความนี้แด่ ... อาร์ เนส (Arne Naess) – บิดาแห่งนิเวศวิทยาแนวลึก เนื่องในโอกาสครบ ๑๐๐ ปีชาตกาล
คำว่า "การศึกษา" ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ ให้คำจำกัดความว่า"เล่าเรียน ฝึกฝน และอบรม" เป็นไปได้ทั้ง ๓ ความ คือ เล่าเรียน ๑ ฝึกฝน ๑ และอบรม ๑ พจนานุกรมฉบับนี้ขยายความว่า "เพื่อให้ผู้ศึกษามีความรู้ ความชำนาญ สามารถประกอบการงานอันเป็นอาชีพของตนได้ มีอนามัยร่างกายสมบูรณ์ มีจรรยาความประพฤติดี อันจะมีคุณประโยชน์แก่ตน ครอบครัว และส่วนรวม ในทางดำเนินวิถีชีวิต และทำให้เกิดสติปัญญา ความสามารถของตนที่เร้นอยู่ คลี่คลายเป็นความเจริญ ส่งผลให้เกิดความสุขสบายใจ" อันความหมายนี้ ดัดความมาจาก Education ของพจนานุกรมฝรั่งอีกที ในหนังสือ "ศึกษิต" ของ น.ม.ส. (พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์) ก็ให้คำจำกัดไปในทางนี้ก็คือ "ความงอกงาม"
๑. แล้วเวลานี้ การศึกษาไทย เป็นไปเพื่อความงอกงามแล้วละหรือ? เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัว และส่วนรวมจริงละหรือ? เป็นไปเพื่อนำสิ่งที่ "เร้นอยู่" หรือศักยภาพภายในของผู้เรียนออกมาได้ละหรือ? ดูคำนิยามคำว่า "การศึกษา" จากพจนานุกรมฉบับดังกล่าว เห็นจะไม่ตรงกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มันอยู่ตรงข้ามกับความเป็นจริง คนจำนวนไม่น้อยคงจะคิดว่าคำนิยามนั้นเป็นคำลวงโลก หรือเป็นอุดมคติที่เกินจะอาจเอื้อม คงไม่ต้องขยายความ อาจจะบอกกล่าวก็ได้เลยว่าการศึกษาไทยเวลานี้ อัปลักษณ์แค่ไหน อย่างไร
ทั้งนี้ ข้าพเจ้าจะไม่เขียนเอง หากจะอ้างบทความ Education in Thai: A Terrible Failure (ข้าพเจ้าแปลชื่อหัวข้อว่า การศึกษาไทย: ความล้มเหลวอย่างน่าบัดซบ) บทความนี้เขียนโดยครูฝรั่งที่เคยสอนในประเทศไทย ซึ่งบัดนี้ย้ายไปสอนประเทศอื่นแล้ว นาม Cassandra James เธอเขียนไว้อย่างน่าสนใจ โดยที่วิจารณ์ความห่วยแตก บัดซบ ของระบบการศึกษาไทย สรุปได้ว่า เธอผู้นี้มาสอนอยู่ที่นี่ได้ไม่เท่าไร ก็รับรู้ถึงความทุเรศ ความเลวร้ายของระบบการศึกษาไทย – นักเรียนกว่า ๕๐ คน, ครูไร้ประสิทธิภาพในการสอน, เงินเดือนจ่ายต่ำ, เด็กนักเรียนไม่มีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์, อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ขาดแคลน, ดีแต่สร้างภาพ, ระบบราชการไทยเป็นแบบเจ้าขุนมูลนาย เหมือนตัวตลกหนึ่งเดียวของโลก ไม่เท่านั้น รัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาไทยก็บริหารจัดการไม่เป็น แถมไม่ค่อยมีสติปัญญาเท่าไร ฯลฯ เธอสรุปไว้อย่างสั้น ๆ บรรทัดเดียวแต่เริ่มหัวข้อแล้วว่า ระบบการศึกษาไทยเป็นระบบการศึกษาที่แย่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมันเลวมากขึ้นทุกปี"
๒. หลังจากบทความนี้ซึ่งอันที่จริงเป็นบทความที่เขียนมายาวนานนับปีแล้วได้เผยแพร่ออกมา ก็กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ส่งต่อกันมากมาย หลายร้อย หลายพันครั้ง คงไม่มีใครปฏิเสธสิ่งที่เธอพูดว่าไม่จริง สิ่งที่เธอเขียนมันสะท้อนถึง "โฉมหน้าการศึกษาไทยที่แท้" ในยุคปัจจุบัน ที่กี่ยุค กี่สมัยก็ดูจะเหมือนเดิม หรือจะใช้คำว่า "อัปรีย์ไป จัญไรมา" ย่อมได้
อยากถามต่อไปว่า ครูไทยได้สอนการคิดเชิงวิพากษ์ให้แก่เด็กไหม? ครูสอนนักเรียนให้คิดถึงผลประโยชน์ส่วนร่วม ไม่ใช่แค่มีน้ำใจ แต่หมายถึงมนุษยชาติทั้งหมด ให้เด็กตระหนักถึงความอยุติธรรมหรือเปล่า? หรือเอาแต่ให้ใช้หัวสมองคิด คำนวณอย่างเดียว โดยไม่โยงไปหาหัวใจเลย แล้วความเป็นกัลยาณมิตรกับผู้เรียน มีบ้างหรือเปล่า? หรือมีแต่ระเบียบพิธีกรรม ไสยศาสตร์ ซึ่งตกยุคพ้นสมัยไปแล้ว หรือเรียกมันได้ว่า สิ่งที่ปฏิกูลตกค้างจากยุคดึกดำบรรพ์ก็ได้
ที่เอ่ยมานี้ขอให้ทบทวนกัน คิดพิจารณากันให้มาก อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่เรายังไม่มีรัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาที่เข้าใจความทุกข์ของนักเรียน เห็นนักเรียนดั่งจักรกล ต้องอบรมมันเข้าวัดจะได้เป็นคนดี (วัดเดี๋ยวนี้ ล้วนแต่เลวร้าย มีแต่สนับสนุนทุนนิยม บริโภคนิยม ไสยเวทวิทยา มิจฉาชีวะ) เข้าใจครู ความทุกข์ยากของครู และไม่ได้มาจากเหล่าครูเอง แต่เป็นนักการเมืองที่ปราศจากวิสัยทัศน์ ตราบนั้น อย่าได้หวังเลยว่า การศึกษาไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่งอกงาม ดียิ่งขึ้น หรืออ้างคำท่านพุทธทาส ท่านเรียกมันว่า "การศึกษาแบบหมาหางด้วน" อย่าหวังเลย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น