วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

The Outrage: บทสัมภาษณ์จากนิตยสาร AC ECHO

เราใช้เวลาทำใจอยู่หลายนาน กว่าจะกล้าตัดสินใจติดต่อขอสัมภาษณ์ “เด็ก” คนนี้ เด็กก้าวร้าวที่ทำให้ผู้ใหญ่เกิดอาการอยากถีบยอดหน้าได้มากที่สุดแห่งยุค “เนติวิทย์” ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่โดดเรียน และไม่มีเรื่องชกต่อย แต่”ความคิด” ที่ไม่รู้ว่า “ก้าวร้าว” หรือ “ก้าวล้ำ” ของเขานั้น ได้กระทำสิ่งที่ “แสบ” กว่าเด็กแสบๆทั่วไปทำกันมาก คือเขาได้ตั้งคำถามเสียงดัง ที่สั่นคลอนจุดยืนที่คนรุ่นก่อนหน้าเชื่อว่าเขายืนกันมาช้านาน ผ่านสื่อออนไลน์และรายการทีวีวิทยุอย่างการบอกให้ยกเลิกผมทรงเรียน ยกเลิกการใส่ชุดนักเรียน ก่อตั้งสมาพันธ์นักเรียนฯ เพื่อต่อสู้กับกฎระเบียบที่เขาเชื่อว่าไร้เหตุผล ใครเล่าจะตัดสินได้ว่าความคิดการกระทำที่ก้าวร้าวของเขาเป็นเรื่องก้าวล้ำ หรือเป็นแค่ความเกรียนธรรมดาจากเด็กเรียกร้องความสนใจทั่วไปหลายคนรู้จักเนติวิทย์แค่จากสื่อ AC Echo จึงอยากนำ “เด็กเกรียน” คนนี้มาสัมภาษณ์ให้ได้อ่านกัน แล้วหลังจากนั้น คำพูดของเนติวิทย์จะตัดสินตัวเขาเอง
เนติวิทย์กับกลุ่มที่มาเจอกันวันนี้ เรียกกลุ่มอะไรครับ?
กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท มันเป็นกลุ่มที่หลังจากที่ผมออกจากสมาพันธ์นักเรียน เนื่องจากผมมีปัญหากับสมาพันธ์นักเรียน แล้วผมก็เป็นผู้ก่อตั้งสมาพันธ์นักเรียนด้วย แต่ว่าผมก็ถูกไล่ออกมา ผมก็เลยมาตั้งกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท โดยจะเน้นเรื่องความ Creative มากขึ้น คือตอนทำสมาพันธ์นักเรียนเนี่ย องค์กรมันค่อนข้างตายตัว ไม่ยึดหยุ่น แต่กลุ่มของเราเนี่ยจะเน้นหลายด้าน ด้านการศึกษา ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม หลากหลายมุมมอง แต่จุดประสงค์หลักของเราคือการศึกษาไทยเนี่ยต้องไปเพื่อความเป็นไทไม่มี ย ยักษ์ คือเป็นไปเพื่อศักยภาพของมนุษย์ นำศักยภาพของนักเรียนเนี่ยสร้างสรรค์สังคมออกมา ซึ่งการศึกษาของเราปัจจุบันเนี่ยเป็นการศึกษาที่พันธนาการเป็นการศึกษาเพื่อความเป็นทาส ไม่ใช่การศึกษาเพื่อความเป็นไท

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

คำสารภาพของนักเรียนผู้มีทัศนะอันรุนแรง



ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนคนหนึ่งซึ่งหลายคนไม่ชอบหน้า หมั่นไส้รังเกียจและเห็นว่าขวางโลก การกล่าวเช่นนี้คงไม่เกินเลยความจริงไปเพราะสิ่งที่ข้าพเจ้าคิดอ่านเขียนไม่ตรงกับที่กระแสสังคมยอมรับนี่ก็อาจรวมไปถึงกริยามารยาทของข้าพเจ้าด้วยต้องยอมรับในเรื่องนี้ว่าข้าพเจ้ามีปัญหาคือเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นจะดัดจริตก็ได้ไม่นานเวลาพูดก็พูดเหมือนอยู่ที่บ้านและที่ไหนๆแต่ข้าพเจ้าก็คงจะต้องยอมเปลี่ยนหรือเพิ่มความสุภาพให้มากขึ้นกระมังหาไม่แล้วผลลัพธ์ในทางดีจะมีไม่มากและหนังสือพิมพ์อย่างที่อ.ป๋วยว่าสื่อมวลสัตว์ ไม่ใช่ สื่อมวลชน ก็คงไปพาดหัวและตัดต่อคลิปมาอย่างสั้นๆอีกข้าพเจ้าเป็นนักเรียนผู้ได้รับฉายานักเรียนผู้มีทัศนคติอันรุนแรงและอันตรายมาแต่มัธยมปีที่สองแล้วซึ่งจริงๆข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่ได้อันตรายอะไรเลยแต่ในสังคมไทยจะมองอย่างนั้นก็ไม่เป็นไร ที่ข้าพเจ้ามาเป็นเช่นนี้ได้ก็เนื่องจากการที่ได้อ่านหนังสือได้ศึกษาความคิดอีกด้านมุมหนึ่งของสังคมกระแสหลักข้าพเจ้าเชื่อในเรื่องเสรีภาพทางความคิดและที่ข้าพเจ้ากระทำไปในโรงเรียนนั้นไม่มีทางที่จะมีผลดีแต่อย่างเดียวหากย่อมต้องมีผลเสียเป็นธรรมดาอยู่ที่ท่านจะพิจารณาส่วนไหนวัดตวงกันอย่างไรข้าพเจ้ามีความเชื่ออย่างสูงว่า

วันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ประวัติศาสตร์ที่อยากอธิบาย"

ปลายเดือนนี้ ผมจะออกหนังสือใหม่อีกเล่ม
ชื่อ "ประวัติศาสตร์ที่อยากอธิบาย"
ยังไม่มีทุนพิมพ์ใดๆ จะพิมพ์เท่าที่มีผู้สนใจ
ท่านใดสนใจสามารถสนับสนุนได้ตามกำลัง และขอค่าจัดส่ง50บาท ติดต่อทางข้อความเพจ
ประสบการณ์การทำหนังสือเล่มเล็กและการต่อสู้ในโรงเรียน
ซึ่งเรื่องครั้งนั้นทำให้ผมกลายเป็นบุคคลที่โรงเรียนมองเป็นภัยตั้งแต่นั้นมา
เมื่อ 5 ปีที่แล้ว
หนังสือเล่มนี้ขนาด A5 มีประมาณ 96 หน้าเป็นอย่างต่ำ
ภูมิวัฒน์ แรงกสิวิทย์ อาสาเป็นบรรณาธิการหนังสือให้
คำนิยมโดย กษิดิศ อนันทนาธร เพื่อนร่วมงานและบก.ปาจารยสาร
ทุนที่ได้จากการขายหนังสือเล่มนี้ สมทบทุนทำห้องสมุดสันติประชาธรรม
และโครงการอื่นๆของผม ขอบคุณครับ

วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ข้อคิดเห็นต่อพิธีกรรมไหว้ครู รวมถึงเหตุผลที่ข้าพเจ้าไม่เข้าร่วมพิธีกรรมไหว้ครู


1. การไหว้ครูแต่เดิมนั้น เราถือว่าท่านเป็นผู้ประสิทธิประสาทวิชาความรู้ด้วยความทุ่มเทอุตสาหะ และบางท่านก็ให้อย่างเปล่าคือวิทยาทาน
ครูตอนนี้อุทิศทุ่มเทตัวให้กับลูกศิษย์มากแค่ไหน ปัจจุบันครูต้องทำผลงานเพื่อเลื่อนขั้นวิทยฐานะ โครงการสร้างภาพต่างๆ (เช่นโรงเรียนพระราชทาน โรงเรียนพอเพียง) เพื่อให้โรงเรียนได้รับงบประมาณ มากกว่าการสอนนักเรียนเสียอีก อาจกล่าวได้ว่าครูทุกวันนี้ไม่ได้อุทิศทุ่มเทตัวให้กับลูกศิษย์มากเท่าที่ทุ่มเทให้ ชื่อเสียงเกียรติยศ ภาพลักษณ์โรงเรียน หรือ ตำแหน่งทางวิชาการ ทุกวันนี้ครูสอนนักเรียนแบบ ใครเรียนได้ก็เรียน ใครไม่สามารถเรียนก็ปล่อยให้ผ่านๆไป หากให้นักเรียนสอบตกจะมีผลกับการประเมินครู ซึ่งมีผลต่ออนาคตของครูคนนั้น
ครูตอนนี้ต่างอะไรจากกวดวิชา ในเมื่อครูก็ทำแค่กวดวิชา ส่วนลูกศิษย์ก็เข้าไปเรียนเพราะเพื่อสอบ แม้กระทั่งการสอบ O-NET ยังต้องติว แล้วอะไรคือสิ่งที่นักเรียนจะได้รับจากครู
แล้วแบบนี้จะต้องมีการไหว้ครูไปทำไม?
2. การที่ครูได้รับการคารวะ ควรจะมาจากการที่ลูกศิษย์เห็นว่าครูคนนี้สอนดี ทุ่มเทใจรักเขาจึงมาคารวะ ไม่ใช่การบังคับให้คารวะ
ส่วนการหมอบคลานนั้นยกเลิกไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว การหมอบคลานนั้นแสดงถึงการแบ่งวรรณะชนชั้นอย่างชัดเจนว่า คนที่หมอบนั้นอยู่ต่ำกว่า ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนในปัจจุบันไม่ได้มีการแบ่งวรรณะชนชั้นอย่างนั้นเลย ครูที่เป็นครูที่แท้จริง (ที่จะไม่ได้ยึดติดเรื่องอำนาจ สถานะที่เหนือกว่า) เค้าไม่ได้สนใจหรอกว่านักเรียนต้องมาหมอบคลานกราบไหว้ตัวเองเพื่อแสดงความเคารพ เพียงแต่นักเรียนเจอหน้ายกมือไหว้ นักเรียนตั้งใจเรียนในห้อง ไม่พูดคุยกันเสียงดัง ส่งงานให้ครบ ตรงต่อเวลา แค่นี้ก็เป็นการเคารพครูอย่างยิ่งยวดแล้ว ประเพณีกราบไหว้หมอบคลานมีเอาไว้เพื่อสร้างภาพ เพื่อแสดงอำนาจ มากกว่าการให้ความเคารพจริงๆเสียอีก
ถามตัวเราเองเถิดว่า เวลาเราไหว้พ่อแม่ เราต้องหมอบคลานแบบไหว้ครูหรือไม่ ถ้าไม่แล้วทำไมถึงต้องหมอบคลานตอนไหว้ครูด้วย
3. ครูเองก็อยู่ในฐานะมนุษย์ และก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ใช่ไหมที่จะมีการผิดพลาด (ครูได้เคยคิดหรือไม่ การที่ครูชอบอ้างบ่อยๆว่าตนสอนนักเรียนคนนั้นคนนี้จนได้ดี ก็ยังมีอีกหลายคนที่เกลียดโรงเรียน และไม่ชอบวิชาความรู้ไปตลอดทั้งชีวิตเพราะมาจากครูเช่นกัน) การมาสร้างครูให้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ด้วยพิธีกรรมต่างๆนั้นยังสมควรต่อไปหรือไม่ ทำไมไม่ให้วันครู เป็นวันที่ครูจะสัญญาว่า ครูจะทำหน้าที่ให้ดีที่ สุด ครูก็เป็นมนุษย์เสมอนักเรียนที่ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกัน เติบโตไปพร้อมกัน ฟังเสียงคำวิพากษ์วิจารณ์แล้วปรับปรุง
วันไหว้ครูปีนี้ ผมไม่มาโรงเรียน ที่ไม่มาไม่ใช่ไม่รักครู แต่ผมมีเหตุผล
การที่ผมรักใครคนหนึ่ง ไม่ต้องไปหมอบคลาน เราหยอกล้อพูดคุยกันสนุกๆกันได้ตรงไปตรงมา
ครูกับนักเรียนเป็นเสมือนมนุษย์ที่มีผิดมีถูกเรียนรู้ไปด้วยกัน แต่พิธีกรรมดังกล่าวทำลายความสัมพันธ์ของคนสองคนให้ยกอีกคนสูงกว่าอีกคน (ทั้งยังบังคับด้วย) ผมไม่เคยเห็นพิธีกรรมไหว้ครูที่ครูขอโทษนักเรียนว่าตนได้ทำผิดพลาดอะไรไปบ้าง และขอให้นักเรียนให้อภัย หรือเป็นการเปิดใจครูต่อนักเรียน ไม่มีที่พิธีกรรมดังกล่าวจะสร้างความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน
เราต้องการรักแบบกลัวๆ รักแบบสยบยอมหรือ ถ้าเป็นอย่างนั้นผมไม่ทำ ผมรักครูได้โดยที่ผมเท่ากับครู เรียนรู้แบบคนเสมอกัน
คุรุชนบางคนอ่านบทความนี้แล้วอาจหาว่าผมไม่รักครูก็ขอให้รู้ว่า "ความรักเราไม่ต้องเรียกร้องให้ใครมากราบไหว้ เรารักโดยที่เรารักมิใช่หรือ"
แล้วถ้าอ้างประเพณีก็ขอให้รู้ว่า "ประเพณีตั้งอยู่บนความสัมพันธ์อันไม่เท่าเทียม และในเมื่อมนุษย์เป็นคนสร้างประเพณี ใยจะดัดแปลงและเปลี่ยนมันไม่ได้"

วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

บันทึกนักเรียนคนหนึ่ง “ก่อนถูกควบคุมตัว 10 ชั่วโมง



บันทึกนักเรียนคนหนึ่ง “ก่อนถูกควบคุมตัว 10 ชั่วโมงในเหตุการณ์ 22 พฤษภาคม 2558″


เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล
วันศุกร์หลังเลิกจากเรียนที่โรงเรียนแล้ว ผมได้ยินข่าวว่ามีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร ประจวบกับ”สยาม” เป็นเส้นทางไปยังสถานที่ทำงานของผมและที่ติวหนังสือซึ่งผมต้องผ่านทีบีทีเอสตรงนั้น ผมเลยตัดสินใจว่าจะแวะไปดูพวกเขาทีแรกแค่จะมาสังเกตการณ์เฉยๆ คิดว่างานนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร (มันมีปัญหาอะไรไม่ได้อยู่แล้ว)แต่เมื่อผมไปถึงแล้ว ประมาณหกโมงเย็นกว่าๆผมได้รับข้อความจากพี่ชายที่มาสอนหนังสือผมว่าให้กลับไม่ต้องมา พี่เขาอยู่ที่นั่น และเหตุการณ์ค่อนข้างอันตราย ทำให้ผมรู้สึกเป็นห่วง
ผมเห็นเริ่มมีการล้อมเป็นวงขึ้น และเมื่อผมสอบถามจากคนรอบข้างนั้นคือ พวกเขารวมตัวกันนั่งเป็นวงกลมเพราะว่ามีนักศึกษาบางคนถูกควบคุมตัวไปโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร ทั้งที่พวกเขามาแสดงออกอย่างสันติวิธี พวกเขาจึงจะนั่งอยู่ตรงนั้นจนกว่าจะมีการปล่อยตัวเพื่อนของพวกเขาและกลุ่มดาวดินด้วยที่ขอนแก่น
ภาพขณะถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องควบคุมที่ สน.ปทุมวัน
ผมตกใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น (แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่เล่ามาอีกที) แต่ผมก็ตัดสินใจว่า ผมไม่ไปนั่งคงไม่ได้แล้วอย่างน้อยก็ต้องแสดงพลังเชิงสัญลักษณ์ออกมาแล้วก็มีเจ้าหน้าที่ทางการมาพูดคุยกับทางกลุ่มของเรา อย่างไรก็ตาม การพูดคุยก็เหลวไป อย่างไรก็ดีผมยังคิดว่าเราต้องมีการทางเจรจากันได้แน่
เราได้มีการร้องเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” (ของจิตร ภูมิศักดิ์) และเพลงเพื่อมวลชน
“ถ้าหากฉันเกิดเป็นนกที่โผบิน ติดปีกบินไปให้ไกลไกลแสนไกล จะขอเป็นนกพิราบขาว เพื่อชี้นำชาวประชาสู่เสรี…”
แต่ยังร้องไม่ทันจบเพลงเพื่อมวลชนด้วยซ้ำ เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจได้เปิดรั้วบุกออกมาอย่างไม่คาดคิด และมีบางคนถูกต่อย ถูกเอาไฟฟ้าช็อตและสี่ห้าคนที่นั่งในวงถูกลากเข้าไปโดยทันที ทันใดนั้นเอง ทหารและตำรวจ กลับไปกระชากตัวพี่ชายผมไป ซึ่งเขาไม่ได้เป็นแค่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แต่เขาไม่สนใจอะไรเรื่องการเมืองเลยด้วยซ้ำ (คสช ย่อมาจากอะไรพี่เขายังไม่รู้เลย)เขากลับถูกลากเข้าไป  จริงๆเขาจะไปซื้อหนังสือกับผมที่สยาม และเขาผ่านไปยืนดูตรงนั้น และเขาพยายามให้ผมออกไปจากที่นั่น พอเหตุการณ์เป็นแบบนี้ ทำให้ผมตัดสินใจที่จะไม่ยอมหยุด เพราะเห็นมันไร้เหตุผลที่สุด   และการไม่ยอมหยุดของเรา ก็ทำแค่นั่งร้องเพลงเฉยๆเท่านั้น !(ที่ทางเจ้าหน้าก็บอกว่า เพราะเราทำลายกำแพงรั้วเข้ามา นั้นเป็นข้อกล่าวหาที่เพิ่มเข้ามาทีหลัง เพราะมีเจ้าหน้าที่พยายามมาเจรจากับเราหลายรอบแล้ว กลุ่มเราได้ถามมาตลอดว่า “เราทำผิดอะไร” เจ้าหน้าที่ไม่ยอมชี้แจง และไม่ได้พูดเรื่องรั้วใดๆทั้งสิ้น)
สถานการณ์อันไม่น่าคาดคิดเกิดขึ้น พวกเราที่เหลืออยู่ บางคนร้องไห้ คนที่ถูกไฟฟ้าช็อต โกรธและก่นว่า อย่างไรก็ดีเรายังมีสติดีอยู่และเราจะไม่ถอยออกไป เท่าที่สังเกต พวกเราไม่มีใครก่นด่าว่าหยาบคายต่อฝ่ายเจ้าหน้าที่เลย เรารู้ว่ามันคือความไม่เป็นธรรม เราไม่ได้ทำผิดอะไรเรายืนยัน แม้ไม่แน่นอนแต่เรายังจับแขนกันไว้แน่นๆ บางคนกำลังประเมินสถานการณ์ 
ส่วนผมและเพื่อนบางคน ร้องเพลง “We Shall Not Be Moved” (เราจะไม่ไปไหน) :
We shall not, we shall not be movedWe shall not, we shall not be movedJust like a tree that’s standing by the waterWe shall not be moved
จากนั้นเราทุกคนในวงร่วมร้องเพลง “เพื่อมวลชน” กันอีกรอบ ยังไม่ทันจบดีๆนี่แหละ
เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารเปิดรั้วของเขาออกมา และปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว และทีนี้ก็ถึงตาผม
พวกเขาเข้ามาจับทุกคนในวง ผมกับเพื่อนที่อยู่ติดกันจับมือกันแน่นไม่ปล่อย แต่สุดท้ายเราก็ไม่อาจต้านทานได้ ผมถูกลากตัวเข้าไป รองเท้าข้างหนึ่งของผมหลุดไป  บอกว่าจะไม่หนีขอไปเก็บรองเท้าก็ไม่ได้ ผมจึงมีรองเท้าข้างเดียวเหลืออยู่ให้ใส่ เพื่อนผมที่อายุน้อยกว่าผมเรียน กศน. อายุ 16 ปี เจ้าหน้าที่ใช้แขนลัดคอ และลากตัวเข้าไป และยังโยนเขาลงด้วย นักศึกษาธรรมศาสตร์คนหนึ่งถูกลัดคอจนหายใจไม่ออก และเอาเข็มขัดรัดมือ พร้อมทั้งด่าหยาบคาย เราถูกบังคับให้ขึ้นรถตู้ไปสน.ปทุมวัน    คนหนึ่งถูกโยนขึ้นไปด้วย เรารวมกันในรอบนี้ 11 คน เป็นนักศึกษา นักเรียนกศน.  และพี่รุ่นวัยทำงานซึ่งพวกเขามาเห็นความไม่เป็นธรรมจึงเข้าร่วม เราร่วมกันขึ้นรถตู้ไป สน. ปทุมวัน
มีเพื่อนเราอีกคนชื่อทรงธรรม เดฟ พี่ผมไม่กี่ปี ถูกลากตัวมาพร้อมเราด้วย แต่เขาไม่ได้ขึ้นรถตู้กับเราหรอกนะครับ เขาถูกเตะ ถูกกระชากลากอย่างรุนแรง และเขาก็เป็นลมไป เราโกรธกันมากเราบางคนคนตระโกนว่า “พวกมึงฆ่าเพื่อนเรา” โชคดีไปที่เดฟปลอดภัย เข้าโรงพยาบาลทัน แต่บาดแผลอะไรยังมีให้เห็นอยู่ และต้องออกค่าใช้จ่ายเองซึ่งแพงพอสมควรเลย
เรื่อง 10 ชั่วโมงในสน เป็นอย่างไรบ้าง ผมอาจจะมาเล่าไว้ในครั้งหน้า แต่คิดว่าข้อมูลส่วนนี้
จะมีหลายคนเขียน เราถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่ม 21 คน 11 คน และ 5 คนแต่ละกลุ่มถูกการเล่นเกมส์ให้เงื่อนไขการปล่อยตัวอะไรที่ต่างกันไป จนวุ่นวายทีเดียวคิดว่าน่าจะมีคนมาเล่าได้ดีกว่าผม
ผมไม่กะว่าจะเคลื่อนไหวอะไรหรอกนะครับงานนี้ จะแค่มาดูที่บอกแล้ว คิดว่าจะไปซื้อหนังสือที่คิโนะคูนิยะ จะผ่านไปสักสิบห้ายี่สิบนาที ผมไม่อยากเชื่อเลยว่า เหตุการณ์มันจะเลวร้ายได้ขนาดนี้ แล้วผมจะทนนิ่งดูดายหรือใครเล่าจะทนกับความป่าเถือนอย่างนี้ได้ ถ้าคนนั้นยังสติดีอยู่แน่ๆมาอย่างสันติ ทำไมถูกทำร้ายอย่างนี้ที่ผมเขียนมานี้ เป็นการเล่าเรื่องราวส่วนตัวและอาจจะตอบโต้ข้อกล่าวหามั่วๆที่ปรากฏในอินเทอร์เน็ตเช่น เราถูกจ้างมา เราถูกจัดตั้งมาก็ได้ เราแทบไม่รู้จักกันเลยด้วยซ้ำที่ไปเจอกันอย่างที่ผมเล่าครูสอนพิเศษผมไม่รู้เรื่องก็ถูกจับไปเหมือนกันอยู่กลุ่ม 21 คนที่เขียนมานี้ผมอยากจะเล่าประวัติศาสตร์ของปัจเจกบุคคล และมุมมองหนึ่งของเหตุการณ์ 22 พฤษภาคม 2558และมันคุ้มค่ามากสำหรับนักเรียนคนหนึ่งที่ได้ทำอะไรอย่างนี้ สิทธิเสรีขั้นพื้นฐานต้องมีจะรออะไร ทำไมให้ผู้ใหญ่มารังแกเราอยู่ได้ ปากเสียงเราอยู่ไหน ผมดีใจที่ได้ร่วมกับพวกเขาคนหนุ่มสาวเหล่านี้ มันทุกข์ใจไม่น้อยที่ถูกควบคุมตัวอย่างยาวนานและตึงเครียด แต่การได้เห็นการตั้งใจดีของพวกเรานักเรียนนักศึกษาคนธรรมดา การเสียสละ การใช้เหตุผล การยืนหยัดในสิทธิความเป็นมนุษย์มันน่าภูมิใจมิใช่หรือ มันคุ้มแล้วต่อที่จะต้องแลกมิใช่หรือ
ภาพขณะนักศึกษากำลังถูกจับกุม
CR: https://netiwitblog.wordpress.com

วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

เปิดตัวห้องสมุดสันติประชาธรรม เสวนาครูกับนักเรียนโลกคนละใบในโลกใบเดียวกัน


วันที่ 16 มกราคม 2558 เนื่องในวันครู กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทจัดเสวนาและงานเปิดตัวห้องสมุดแห่งใหม่สำหรับคนรุ่นใหม่ในชื่อ หอสมุดสันติประชาธรรม โดยมี ส.ศิวลักษณ์ เป็นประธานในการเปิดห้องสมุดในครั้งนี้ และมีเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาลเป็นพิธีกรงานเสวนาในครั้งนี้ ณ สวนเงินมีมา มูลนิธีเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป
เมื่อเวลา 13.00 น. ชั้น 2ของเรือนร้อยฉนำ ณ สวนเงินมีมา  มูลนิธีเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป อาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์เป็นประธานในพิธีเปิดด้วยการเขียนป้ายชื่อหอสมุด สันติประชาธรรมลงบนป้ายผ้า นอกจากนี้มีการบรรเลงเพลงเดือนเพ็ญ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความคิดเห็นที่แตกต่าง ดั่งประวัติของเพลงนี้ที่ผู้แต่งไม่อาจต้องอยู่ประเทศไทยได้เพราะแนวคิดทางการเมือง
ไม่นานนักหลังทำพิธีเปิด ก็มาถึงงานเสวนาในหัวข้อ ครูกับนักเรียน โลกคนละใบในโลกใบเดียวกัน ดำเนินรายการโดย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท โดยมีวิทยากรมาบอกเล่าเรื่องราวความเป็นครูนักเรียนในมุมมองต่างๆดังนี้ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ ปัญญาชนสยาม ,ครูวิษณุ สังข์แก้ว ครูบรรณารักษ์,ครูปราศรัย เจตสันต์ ครูสอนสังคมฯและ ณัฐนันท์ วรินทรเวช นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทคนปัจจุบัน  ร่วมแลกเปลี่ยนในฐานะนักเรียน
โดยในช่วงเปิดการเสวนาได้มีงานนำคลิปตัวใหม่ที่ทางกลุ่มผู้จัดทำขึ้น เกี่ยวกับการไหว้ครูแนวใหม่มาเปิดเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้อย่างมากมายก่อนเริ่มเสวนา(ชมคลิป) 
เริ่มโดย เนติวิทย์ ให้อาจารย์สุลักษณ์ เล่าเรื่องราวความเป็นนักเรียนของอาจารย์ทั้งสมัยเรียนที่อัสสัมชัญและที่ประเทศอังกฤษว่าเป็นเช่นไร อาจารย์เล่าว่าในสมัยเรียนนั้นไม่ชอบการเรียนสมัยนั้นเท่าไร เน้นท่องจำ ครูเอาของมาขายบ้างแลกเกรด จนไปเจอครูที่อังกฤษครูทุ่มเทด้วยหัวใจ เป็นแบบอย่าง โดยอาจารย์สุลักษณ์เน้นว่าในปัจจุบันผู้บริหารสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาทั้งไทยและต่างชาตินั้นก็ล้วนแต่ใฝ่หาอำนาจด้วยกันทั้งนั้น ทั้งนี้อาจารย์ได้พูดถึงการศึกษาว่าไม่ควรแยกครูกับนักเรียน เพราะต่างฝ่ายต้องเรียนรู้ด้วยกันทั้งสิ้น คำว่าครูมาจากครุแปลว่าหนักแน่น คือต้องสอนให้นักเรียนมีหนักแน่น กล้าหาญทางจริยธรรม ไม่ใช่กลัวครูไปหมด
ตามด้วยครูวิษณุ ที่เล่าเรื่องแรงบันดาลใจที่มาเป็นครู ว่ามีครูสมัยเรียนเป็นแบบอย่าง รอสอนหนังสือแม้ตอนดึกหลังเลิกเรียนครูก็รอ จึงทำให้ครูวิษณุตั้งใจอยากเป็นครู ครูวิษณุยังเล่าเรื่องที่โรงเรียนว่าอยากให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับกฎเกณฑ์ต่างๆ เรื่องที่มีนักเรียนมาปรึกษาว่าไม่พอใจกฎเรื่องทรงผม หรือกฎที่คนมาสายตั้งถูกลงโทษทั้งๆที่บางครั้งอาจจะเป็นความผิดของคนขับรถโรงเรียน โดยคุณครูวิษณุได้แสดงออกถึงความเป็นครูที่ใจกว้าง และรับฟังปัญหาของนักเรียน สิ่งที่ครูวิษณุยืดถือคือ การไปโรงเรียนแต่เช้า การอยู่ห้องสมุดเสมอเวลากลางวัน และการกลับบ้านทีหลังเพื่ออยู่พบนักเรียนที่มาปรึกษา
ครูปราศรัย จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งแตกต่างจากครูวิษณุคือ ไม่ได้มาเรียนครูเพราะอุดมการณ์ เรียนเพราะคะแนนถึงจึงเลือกเรียนครู  พึ่งจะมาชอบการเป็นครูก็ตอนได้ฝึกสอนและตอนได้สอนจริงๆเพราะรู้สึกสนุก โดยครูปราศรัยเล่าถึงการใช้ความเป็นกันเองกับนักเรียนแต่ก็มีเส้นแบ่งที่ชัดเจน นอกจากนี้ครูปราศรัยเล่าต่อว่าการเป็นครูในโรงเรียนที่กำลังสร้างขื่อนั้น งานเยอะโดยเฉพาะครูผู้น้อยที่ไม่มีภาระจะมีคำสั่งให้ไปร่วมกิจกรรมมากกมาย ทั้งค่ายธรรม ค่ายคสช. และค่ายลูกเสือเป็นต้น  ทำให้เวลาสอนไม่พอ  บางห้องไม่ได้เจอเลยติดกันหลายสัปดาห์ แต่ก็ต้องปรับตัวโดยใช้สื่อ  ใช้ facebook เข้ามาช่วยในการเรียนการสอนมากขึ้น
ณัฐนันท์  บอกวันครูกับวันไหว้ครูไม่เหมือนกัน แม้กิจกรรมจะคล้ายกันบ้างก็ตาม แต่ก็ชวนตั้งคำถามว่าทำไมกิจกรรม เช่นไหว้ครู ครูถึงเป็นผู้จัดให้นักเรียนมาไหว้ ไม่ใช่นักเรียนตั้งใจจัดเพื่อไหว้ครูที่เคารพ เธอเล่าเรื่องสมัยเรียนว่าสมัยม.ต้นเธออยู่ English program อาจารย์ส่วนมากเป็นอาจารย์ต่างชาติ บรรยากาศในห้องเรียนจึงเต็มไปด้วยการตั้งคำถามและความเป็นกันเองของอาจารย์ ต่างกับม.ปลายที่เธอย้ายเข้ามาเรียนในเตรียมอุดมศึกษา  แม้เป็นโรงเรียนที่คัดหัวกะทิมา  แต่ทุกครั้งที่เธอตั้งคำถามก็มักจะถูกมองแปลกๆ หลายๆครั้งเธอเลยไม่พยายามโดดเด่นในห้องเรียนนักแต่ใช้เวลาอ่านหนังสือเองจากภายนอก
หลังจบงานเสวนาหลายท่านถ่ายรูปต่อกับวิทยากรและพูดคุยกับวิทยากรอย่างเป็นกันเองก่อนแยกย้ายกันกลับในเวลา 16.00 น.