วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559

อาจารย์ครุฯ จุฬาฯ ยอมขอโทษ หลังเหยียดหน้าตาเนติวิทย์ นิสิตคณะรัฐศาสตร์

วันที่: 15 มิ.ย. 59 เวลา: 14:42 น.
ภายหลังจากมีบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งปรากฎชื่อเจ้าของบัญชีคือ ดร.เปรม สวนสมุทร อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 59 ได้ปรากฎโพสต์ข้อความในบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว โดยมีการกล่าวถึง นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล หรือ แฟรงค์ กรณีแอดมิชชั่นติดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งระบุข้อความว่า “เรื่องการเมืองและการเคลื่อนไหวไม่ Comment แต่หน้าตาของพี่แกนี่มันจิทำให้อัตลักษณ์ของชาวจุฬาฯ เป็นที่เคลือบแคลงต่อสาธารณชน ขอเรียกร้องให้เพิ่มช่อง “หน้าตาแสดงอัตลักษณ์ของชาวจุฬาฯ” เป็นส่วนหนึ่งของคะแนนสัมภาษณ์ ด้วยน้ำหนักคะแนน50% ดีนะไม่มาครุ (ครุศาสตร์) ไม่งั้นคณะหมอง”
จนเกิดกระแสวิจารณ์เป็นอย่างมาก ก่อนที่เจ้าของเฟสบุ๊กจะปิดเฟสบุ๊กไป นั้น

วันนี้ (15 มิ.ย.) ดร.เปรม ได้โพสต์เฟสบุ๊ก Pram Sounsamut ขอโทษต่อเหตุการร์ที่เกิดขึ้น ระบุว่า
เรียนทุกท่าน กระผมได้ทบทวนการแสดงความคิดเห็นบน Facebook ส่วนตัว เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559 แล้ว ตระหนักได้ว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสม และอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อหลายบุคคลหลายฝ่าย กระผมจึงต้องขออภัยเป็นอย่างสูงต่อการแสดงความคิดเห็นดังกล่าว


                      

วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559

สัมภาษณ์: ‘เนติวิทย์’ ว่าที่นิสิตหัวก้าวหน้า ในมหาวิทยาลัยอนุรักษ์นิยม

ค้นหาคำตอบทุกข้อสงสัย ทำไม ‘เนติวิทย์’ นักเรียนหัวก้าวหน้าเลือกรัฐศาสตร์ จุฬาฯ  เผยมีแผนก่อตั้งองค์กรในรั้วมหาวิทยาลัย สารภาพจงใจล่อเป้าโปรโมตหนังสือ
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักเรียนจากกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจของตน ว่าไม่ได้เข้าศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างที่หวังเอาไว้ จนทำให้เกิดการเยาะเย้ยถากถางจากกลุ่มคนที่ไม่ชอบเนติวิทย์อย่างมากบนสังคมออนไลน์ แต่ในเวลาต่อมาเนติวิทย์ได้ออกมาบอกว่าตนแอดมิชชันติดภาคปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแทน
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมเนติวิทย์ถึงเลือกเข้าจุฬาฯ ที่มีภาพลักษณ์อนุรักษ์นิยม แทนธรรมศาสตร์ที่มีภาพลักษณ์เสรีนิยมมากกว่า เขาตั้งใจจะทำอะไร และการกระทำของเขาคือการจงใจล่อเป้าหรือไม่ บทสนทนาต่อไปนี้จะตอบในคำถามที่หลายคนสงสัย   
ดีใจไหมที่ติดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
เนติวิทย์: ดีใจเหมือนกันครับที่ได้ติดมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียง แต่ก็ไม่ได้ตื่นเต้นอะไรมาก รู้เรื่องนี้มานานพอสมควรแล้ว เพราะว่าคะแนนแกทหรือคะแนนอะไรอย่างอื่นมันออกมานานแล้ว ก็เลยรู้มาสองสามเดือนแล้วด้วยซ้ำไปว่ามีโอกาสติดประมาน 70-80 เปอร์เซ็นต์
คนบางส่วนเขาสงสัยว่าทำไมถึงไม่ได้เข้าคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ คุณเลือกอันดับอย่างไร
ผมเลือกตามความสนใจของผม ผมอยากจะเข้าเรียนเพื่อไปหาสังคมใหม่ๆ ก็เลยเลือกอันดับแรกเป็น รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ภาคปกครอง จากนั้นรองมาเป็นรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ภาคสังคมวิทยา แล้วอันดับสามเป็นคณะจิตวิทยา จุฬาฯ พออันดับสี่ก็เป็นรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่ยื่นอันดับที่สี่เพราะไม่ได้อยากจะเรียนธรรมศาสตร์ คือผมไปสอบรับตรงมา ถ้าเห็นที่ผมโพสต์ ผมเขียนว่าผมสอบไม่ติดและบอกว่าไม่มีโอกาสเข้าธรรมศาสตร์ ไอ้สอบไม่ติดก็คือความจริงเพราะผมสอบไม่ติดรับตรงธรรมศาสตร์ ซึ่งเรื่องนี้ประกาศผลมานานแล้ว แล้วที่บอกว่าไม่มีโอกาส ก็ผมเลือกธรรมศาสตร์ไว้อันดับสี่ ผมเลยไม่มีโอกาสได้เข้า
ทำไมถึงเลือกรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นอันดับหนึ่ง แทนที่จะเป็นรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
มันมีหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งคือผมไม่ค่อยชอบบรรยากาศที่รังสิตเท่าไร มันร้อนมาก แล้วผมคิดว่ามันเคลื่อนไหวยากเพราะมันไกล อีกอย่างคือผมรู้จักนักกิจกรรมที่ธรรมศาสตร์เยอะพอควร ผมเลยเบื่อแล้วบรรยากาศแบบนี้ เข้าไปมันคงไม่ได้สนุกเต็มที่สำหรับเรา ผมอยากเห็นคนที่มีความคิดหลากหลาย ความคิดอนุรักษ์นิยม เสรีนิยมอะไรก็ได้ อยากเห็นหลายๆ แนวคิดบ้าง เพราะเราเห็นแนวคิดเสรีนิยมเยอะแล้ว ก็อยากลองเห็นความคิดของจุฬาฯ บ้างว่าเป็นยังไง
ได้ยินว่าคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ไม่ได้เป็นคณะอนุรักษ์นิยมอะไรซะขนาดนั้น ก็อยากจะเข้าไปแสวงหาความรู้ คือเมืองไทยเรายังติดชื่อเสียงมหาวิทยาลัยอยู่ มันก็เป็นโอกาสเราเหมือนกัน ที่ผมเลือกเข้าที่นี่เพราะว่าการทำกิจกรรมมันน่าจะง่ายขึ้น ชื่อจุฬาฯ มันอาจดึงดูดคนได้มากขึ้น ผมเลยลองดูแล้วกัน แต่ไม่ได้หมายถึงผมยึดติดสถาบัน ผมไม่ต้องการอยู่ประเทศไทย แต่ผมไม่มีตัวเลือกตอนนี้ แล้วอีกอย่างห้องสมุด [ห้องสมุดสันติประชาธรรม] ของผมนี้ ผมทำงานอยู่ที่นี่เป็นบรรณารักษ์ ถ้าผมไปอยู่รังสิต ผมอาจจะไม่ได้ทำงานดูแลที่นี่ต่อ ก็เลยเลือกจุฬาฯ มันอยู่ใกล้ แล้วก็เคลื่อนไหวง่ายขึ้นเพราะเรามีสถานที่เอง ฟังเสวนาก็ไปไม่ลำบาก เพราะว่าเสวนาส่วนใหญ่ก็จัดที่ท่าพระจันทร์ หรือจุฬาฯ ฉะนั้นถ้าอยู่รังสิตก็ไกลไป